วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทฤษฎีว่าด้วยความจริง

การที่จะตัดสินว่าอะไรจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ อาจใช้ทฤษฎีว่าด้วยความจริงเป็นเครื่องมือในการตัดสิน และทฤษฎีว่าด้วยความจริง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีสหนัย (Inherence Theory) คือ ทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่า ข้อความใดข้อความหนึ่งเท็จจริงหรือไม่ ให้ดูว่าข้อความนี้สอดคล้องกับข้อความอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ข้อความนั้นก็เป็นจริง ถ้าขัดแย้งกันข้อความนั้นก็ไม่เป็นจริง เช่นถ้ามีใครพูดว่า "นายแดงต้องตายแน่" เราก็ต้องยอมรับคำพูดนี้จริง เพราะความรู้เดิมมีอยู่ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องตาย แดงก็ต้องกตายเพราะแดงเป็นสิ่งที่มีชีวิต ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับวิธีหาความรู้แบบนิรนัย (Deduction)
2. ทฤษฎีสมนัย (Correspondence Theory) คือทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกต้องเป็นจริงก็ต่อเมื่อความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เช่น การที่เราจะยอมรับว่า "น้ำบริสุทธิ์เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา" ก็ต่อเมื่อเราได้ทดลองเอาน้ำไปใส่กาต้มดู ดังนั้นสิ่งที่ค้ำประกันว่า ความรู้ถูกต้องเป็นจริง คือการที่ความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับการหาความรู้แบบอุปนัย (Induction)
3. ทฤษฎีปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือทฤษฎีที่ถือว่า เกณฑ์ตัดสินความจริง คือ การใช้งานได้ ความสำเร็จประโยชน์ในทางปฏิบัติ ความมีอัตถประโยชน์ คือ พิจารณาจากความสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจริงคือ สิ่งที่มีประโยชน์ ปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทฤษฎีปฏิบัตินิยมเกิดจากความบกพร่องของทั้งสองทฤษฎีแรกข้างต้น กล่าวคือ ทฤษฎีสหนัย มีความบกพร่องตรงที่ว่า ถ้าความรู้เดิมผิดพลาด ความรู้ที่เราได้รับมาใหม่ ก็จะต้องผิดพลาดด้วย ทฤษฎีสมนัยมีความบกพร่องตรงที่ว่า ในโลกนี้มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน ดังนั้น สิ่งที่คิดว่าเป็นความจริงในขณะนี้อาจจะไม่ตรงกับคามจริงในอนาคตก็ได้ ดังนั้นจึงมีผู้เสนอให้ใช้ทฤษฎีปฏิบัตินิยมแทน
ข้อควรระลึกเสมอก็คือในบรรดาทฤษฎีทั้งสามนี้ ไม่มีทฤษฎีใดสมบูรณ์แน่นอนตายตัว ขนาดที่ว่าสามารถจะนำไปใช้ได้กับทุกกรณีทุกที่ทุกสถานการณ์ ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีล้วนมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ เช่น ทฤษฎีสหนัยใช้ได้ดีกับความจริงทางคณิตศาสตร์ ส่วนทฤษฎีสมนัยนั้นใช้สำหรับตรวจสอบความถูกต้องหรือความจริงทางวิทยาศาสตร์ และถ้ายังไม่พอใจวิธีการ ทั้งสองนั้นก็น่าจะลองหันมาใช้ทฤษฎีปฏิบัตินิยมดูได้ เพราะทฤษฎีปฏิบัตินิยมเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในทางศาสนา และคำสอนในทางศาสนา หากไม่มีการปฏิบัติย่อมจะไม่เกิดผลใด ๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่น ในทางพระพุทธศาสนามีคำสอนที่นำชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ ที่เรียกว่า "นิพพาน" หรือ "อรหันต์" ใครก็ตามที่บรรลุถึงจุดนี้ได้ จะต้องถือปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ 8 โดยเคร่งครัด ตามหลักมัฌชิมาปฏิปทา หาไม่เช่นนั้น การศึกษาเล่าเรียนโดยไม่ปฏิบัติ ก็จะได้เพียงเรียนรู้จดจำ จะไม่มีโอกาสเข้าถึงสัจจะคือ นิพพาน ตามอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนาได้เลย
magic