วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คำสอนสำหรับผู้บำเพ็ญโยคะ (สัตยา ไสบาบา)

(60) วินัยของตนเองเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างประสบ ความสำเร็จ ชีวิตที่มีวินัยทำให้มนุษย์สามารถได้รับความสงบสุขสันติที่เป็นนิรันดรได้ ถ้าปราศจากสันติก็ไม่สามารถมีความสุขได้ สันติเป็นธรรมชาติของอาตมัน ซึ่งจะอยู่ ร่วมกับหัวใจที่บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น สันติจะไม่บังเกิดในหัวใจที่เต็มไปด้วยกิเลส และความโลภ สันติเป็นลักษณะพิเศษของเหล่าโยคี ฤาษี และสัตบุรุษทั้งหลาย
(61) สิ่งที่ผู้บำเพ็ญโยคะจักต้องปฏิบัตินั้นได้แก่
ประการที่หนึ่ง การปรับปรุงจิตให้เกิด ‘วิเวก’ ซึ่งหมายถึง ความ สามารถในการที่จะวิเคราะห์ระหว่างความถาวรยืนนานกับความไม่แน่นอน และ ความสามารถที่จะตัดสินว่าอะไรทรงคุณค่าอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ความเพียรพยายามอย่างแน่วแน่ ในการฝึกฝนจน เชี่ยวชาญ สามารถจำแนกได้ถึงสิ่งที่ทรงคุณค่าและเป็นความจริงแท้
ประการที่สาม มีปณิธานหนักแน่น ในการเพียรพยายามอย่างไม่ท้อ ถอย ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขัดขวางหนทางปฏิบัตินั้นด้วยประการใดก็ตาม
การปฏิบัติทั้งสามนี้เรียกว่า “ตบะอย่างแท้จริง” การบำเพ็ญตบะ เท่านั้นที่จะทำให้เกิดสันติและความปิติสุข
(62) ความหนักแน่นและความไม่หวั่นไหวย่อมเป็นคุณสมบัติที่ เป็นประโยชน์และสำคัญยิ่งในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจ และเอาชนะ ความขัดแย้งนี้ เธอต้องมีความสงบสุขุมและเยือกเย็น นอกจากนั้นต้องมีความ กล้าหาญ ความฉลาด ความพากเพียร เพื่อเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแกร่งมั่นคง
(63) ใบหน้าที่อิ่มเอิบ ดวงตาทอประกาย อากัปกิริยาที่เข้มแข็งมุ่งมั่น วาจาสุภาพ จิตใจที่กว้างขวาง ใจที่เป็นกุศลมีคุณความดีที่มั่นคง เหล่านี้เป็น คุณสมบัติของผู้ที่มีความก้าวหน้าทางจิต
(64) ลุกขึ้นเถิด เธอผู้กระหายในการฝึกฝนทางจิตเพื่อรู้จักตน เอง! จงทุ่มเทตนเองในการฝึกฝนปฏิบัตินั้น จงเสริมพลังศรัทธาของเธอให้กล้าแข็ง จงหมั่นปลูกฝังศรัทธาไว้ จงทำให้ศานติเป็นสมบัติอันมั่นคงของเธอ จงอิ่มเอิบกับ ชีวิตด้วยความปิติสุข จงชื่นชมยินดีกับจินตภาพของอาตมัน จงลุกขึ้นอย่ามัวรีรอ ลังเล!
(65) มนุษย์จะสามารถรู้จักตนเองอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อใจได้ถูก ควบคุมไว้อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ดังนั้นความยากแค้นลำเค็ญต่างๆ รวมทั้ง ความปวดร้าว ความระแวงสงสัย ความขัดแย้งในใจต่างๆ จะสิ้นสุดลง มนุษย์จัก สามารถเอาชนะความโศก ความหลงผิด และความวิตกกังวลได้จนสิ้น เขาจะสถิต อยู่ในศานติอันเงียบสงัด
(66) จงเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า เธอคือจักรวาลและอาตมันที่เป็น อมตะ สิ่งนี้จะช่วยให้การฝึกฝนทางจิตของเธอเป็นไปได้ง่ายขึ้น ถ้าหากเธอหลง ละเมอว่า ตัวเธอคือร่างกาย คือประสาทสัมผัส คืออัตตาที่เป็นปัจเจกแล้วไซร้ การ ฝึกฝนทางจิตของเธอจะเป็นเหมือนผลไม้ที่มีหนอนบ่อนไส้ ไม่มีวันเจริญเติบโต และสุกได้ และความหวานแห่งผลพวงของความสุขอันเป็นนิรันดรจะไม่มีทางได้รับ เลยแม้จะผ่านไปอีกกี่ชาติก็ตาม
(67) อะไรคือโมกษะหรือความหลุดพ้นที่แท้จริง? โมกษะคือศานติ ที่ได้รับจากการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยการปล่อยวางไม่ยึดมั่นกับสิ่งที่ได้ พบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียนรู้ ได้อ่าน ได้กระทำ หรือกำลังกระทำอยู่
(68) อนิจจา...มนุษย์ได้ลืมเลือนภารกิจหน้าที่ที่เขาต้องมาสู่ภพนี้ เขาไม่ยอมตอบคำถามที่ว่า เขามาจากที่ใด เขาหลับตาไม่ยอมรับรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน สติปัญญาความเฉลียวฉลาดของเขาถูกชักจูงไปสู่ความสนุกสนานรื่นเริง รวมทั้งสิ่ง อำนวยความสะดวกสบายทั้งปวง จนเขาสูญเสียพลังอำนาจทั้งปวงของเขาไป ช่างเป็น โศกนาฏกรรมอะไรเช่นนี้
(69) แรกทีเดียว เธอต้องทราบภูมิลำเนาที่แท้จริงของเธอก่อน
เธอเป็นใคร? อาตมัน
เธอมาจากที่แห่งใด? จากอาตมัน
เธอกำลังจะไปไหน? ไปสู่อาตมัน
เธอจะอยู่ที่นี่นานเท่าใด? นานเท่าที่เธอยังผูกพันอยู่กับกามทั้งปวง
เธออยู่ที่ไหน? อยู่ในที่ที่ไม่จริงแท้แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เธออยู่ในรูปของอะไร? อนัตตา
เธอผูกพันอยู่กับอะไร? กิจอันไม่จีรังยั่งยืน
ดังนั้น เธอควรทำเช่นใดหลังจากนี้? ต้องละวางสิ่งเหล่านั้นและเพียร พยายามปฏิบัติธรรมเพื่อหลอมรวมเข้ากับอาตมัน

magic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัณณกสิณ ๔ สีที่เกิดอยู่ที่จริต เกิดเป็นรังษีออร่า